ความทนทาน จำแนกความเสียหายได้ 4 อย่างต่อไปนี้
1.ทางชีวภาพ ได้แก่ความเสียหายที่เกิดจากเชื้อรา แมลงและเพรียง
2.ทางฟิสิกส์ ได้แก่ความเสียหายที่เกิดจากถูกความร้อน ความชื้น การยืด หดตัว แตก ร้าว ปริ และโดยการกระทำของสภาพอากาศ
3.ทางกล ได้แก่การเสียดสี เหยียบย่ำ การแตกหักเพราะมีน้ำหนักกระทำ
4.ทางเคมี ได้แก่การถูกกรด ด่าง การเติมออกซิเจน และถูกไฟไหม้
การเสียหายจากสาเหตุแรกนั้นเป็นความเสียหายที่สามารถป้องกันได้โดยใช้ตัว ยารักษาเนื้อไม้ ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตัวการทั้งสามที่ทำให้เนื้อไม้ผุพัง ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก ไม้ที่ทนทานต่อการทำลายโดยไม่ต้องอาศัยน้ำยารักษาเนื้อไม้ เรียกว่าเป็นไม้ที่มีความทนทานตามธรรมชาติ ตัวยารักษาเนื้อไม้ คือสารเคมีที่เป็นพิษต่อตัวการทำลายไม้ ซึ่งได้แก่ เชื้อรา แมลง และเพรียง ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยปกติแล้วยารักษาเนื้อไม้จะต้องเป็นของเหลวเพื่อให้ซึมผ่านเนื้อไม้ได้ สะดวก จะเป็นในรูปสารเคมีผสมสารละลาย หรือเป็นน้ำมันผสม หรือเป็นสารเคมีที่สะลายน้ำก็ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1.ครีโอโสต หรือสารผสมที่ได้จากน้ำมันดินถ่านหิน มีประสิทธิภาพสูง ไม่ละลายน้ำ ติดกับไม้ได้นานมาก ช่วยให้ไม้ไม่แตกร้าว ไม่กัดโลหะ ใช้กับงานที่ต้องการความคงทนมากๆเช่น ไม้หมอนรถไฟ ไม้เสาไฟฟ้า ปกติใช้วิธีการอัดแบบไม่เต็มเซลล์ มีข้อเสียคือมีกลิ่นรุนแรง ทาสีทับไม่ได้ มีสีดำ
2.สารเคมีผสมสารละลายประเภทน้ำมัน เช่น Tanalith T (เป็นสารเคมีประเภทละลายในน้ำมันซึ่งมีสารออกฤทธิ์เป็น Permethrin สามารถใช้วิธีการจุ่ม พ่นหรือทาได้)
3.สารเคมีผสมน้ำ ที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราเช่น สารพวก Boron Compound (น้ำยาอัดขาว) , CCA:Copper Crome Asenic (น้ำยาอัดเขียว) ปกติแล้วการใช้สารพวก Boron Compound ใช้กันมากกับการรักษาเนื้อไม้พวกไม้ยางพารา ไม้เนื้ออ่อน ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ประเภทใช้งานภายใน โดยอัดให้มีปริมาณน้ำยาตกค้าง ที่ 0.2 % BAE ส่วน CCA ใช้กับไม้ที่ต้องการทนแดดทนฝนเป็นพิเศษ เพราะมีการยึดติดกับเนื้อไม้ได้ดี โดยปกติจะใช้วิธีการอัดแบบเต็มเซลล์
คุณสมบัติของยารักษาเนื้อไม้
1.ปลอดภัย หรือเป็นอันตราบต่อผู้ใช้น้อยทีสุด
2.มีประสิทธิภาพ ต้องเป็นพิษกับตัวการทำลายไม้
3.คงทน อยู่ในเนื้อไม้ได้นาน
4.ค่าใช้จ่ายไม่สูง คุ้มกับความต้องการรักษาเนื้อไม้
กรรมวิธีอาบน้ำยาไม้
1.วิธีใช้แรงอัด คือการอัดโดยใช้ถังอัด แบ่งออกเป็น
-กรรมวิธีอัดเต็มเซลล์ คือมีการทำสูญกาศ(-0.84 bar)ร่วมกับการอัดแรงดัน(150-200 psi)
-กรรมวิธ๊อัดเซลล์ว่าง คือทำการอัดแรงดันอย่างเดียว(ใช้ลมอัด 60 psi และอัดน้ำยาที่ 150-200 psi)
-กรรมวิธีใช้แรงดันสลับ คือทำการใช้แรงอัดสลับกับสูญกาศหลายๆครั้ง
-กรรมวิธีใช้สูญกาศซ้อน คล้ายกับวิธีอัดเต็มเซลล์ แต่ใช้แรงดันต่ำกว่า
2.ไม่ใช้แรงอัด ได้แก่วิธี ทา พ่น จุ่ม แช่