การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก

ปัจจุบัน การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการขนส่งระหว่างประเทศมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่ว โลก เพื่อใช้ในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่ส่งออกไป จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่โดยเหตุที่วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้สามารถเป็นพาหะนำศัตรูพืชจากแหล่งหนึ่งไป แพร่ระบาดยังแหล่งอื่นในการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention , IPPC) จึงได้จัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับมาตรการสุขอนามัยพืช( International for Phytosanitary Measure) ว่าด้วย แนวทางการควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการค้าระหว่างประเทศ (Guideline for Regulating Wood Packing Material in International Trade , ISPM 15) โดยกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกออกกฏระเบียบเพื่อควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ใน การค้าระหว่างประเทศต้องมีการกำจัดศัตรูพืช และมีเครื่องหมายประทับรับรองการกำจัดศัตรูพืชตามแบบที่กำหนดในมาตรฐาน พร้อมแสดงหมายเลขทะเบียนรับรอง การกำจัดศัตรูพืชตามแบบที่กำหนดในมาตรฐาน พร้อมแสดงหมายเลขทะเบียนรับรอง การกำจัดศัตรูพืชอาจจะใช้วิธีการรมยา (fumigation) ด้วย เมธิลโบรไมด์ (Methyl bromide) อัตรา 48 กรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นเวลาอย่างน้อย 16 ชม. หรือใช้ความร้อน (Heat treatment) อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ที่แกนกลางไม้ ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ กำหนดให้องค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization , NPPO) ของแต่ละประเทศ ทำหน้าที่จดทะเบียนผู้ประกอบการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้และตรวจประเมินการ กำจัดศัตรูพืช
คู่มือการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ เพื่อการส่งออก ตามข้อกำหนดของ IPPC จะเป็นข้อมูลที่สื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจ ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้ประกอบการต่อการนำไปใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก
กรมวิชาการเกษตรในฐานะขององค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ
ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยมอบหมายให้ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการ มีรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
1. ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน
แบบคำขอขึ้นทะเบียนที่เรียกว่า กบส 1 รับได้ที่กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร รายละเอียด ประกอบด้วย
1.1 ชื่อบริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้าน
1.2 ที่อยู่เลขที่ ถนน ตรอก/ซอย/หมู่ ตำบล อำเภอ จังหวัด รหัสไปรษณีย์
1.3 เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ โทรสาร
1.4 แสดงความจำนงในการขอประเมินความสามารถในการกำจัดศัตรูพืชในช่อง ( ว่าต้องการประเมินแบบใด
1.5 ลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจ
2. การส่งเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการต้องแสดงหลักฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขึ้นทะเบียนผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก
พ.ศ. 2547 ดังต่อไปนี้
2.1 กรณีผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา
(1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ
(2) สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ที่นายทะเบียนรับรองไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1 ฉบับ
(3) สำเนาแผนที่ตั้งของโรงงานผลิต
2.2 กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล
(1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการ
ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท (กรณีบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด) หรือของหุ้นส่วนผู้จัดการ (กรณีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) แล้วแต่ กรณี จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ
(2) หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงรายการ
จดทะเบียนตลอดทั้งชื่อกรรมการ หรือหุ้นส่วนผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งออกมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ
(3) สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
(4) สำเนาแผนที่ตั้งของโรงงานผลิต

3. การเตรียมการของผู้ประกอบการวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ เพื่อการตรวจประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจประเมินวิธีการกำจัด ศัตรูพืช ผู้ประกอบการ ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ และเครื่องมือให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดในแต่ละวิธีการกำจัดศัตรูพืช
3.1 การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินความสามารถในการรมยา
กำจัดศัตรูพืชของผู้ประกอบการ
ในการรมยากำจัดศัตรูพืชโดยเมธิลโบรไมด์ เป็นวิธีการรมยาที่มีประสิทธิภาพ
และสิ้นเปลืองเวลาในการปฏิบัติงานน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการรมยาด้วยสารเคมีชนิดอื่น ๆ
แต่การรมยาให้ได้ผลและประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนตามหลักวิชาการที่ได้รับการรับรองจาก นานาชาติ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้น ได้แก่
(1) บุคลากร
บุคลากรที่จะมาปฏิบัติการรมยา นับได้ว่ามีความสำคัญที่สุดในการดำเนินการรมยา โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะเหตุว่า เมธิลโบรไมด์เป็นก๊าซพิษ สามารถทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การปฏิบัติงานไม่เพียงแต่ที่จะต้องระมัดระวังตนเองแล้ว ยังจะต้องมิให้ผู้อื่นได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงานรมยาด้วย นอกจากนั้นยังต้องเป็นผู้ที่รู้จักวิธีการรมยา และสามารถปฏิบัติการรมยาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด มีความปลอดภัย สามารถฆ่าแมลงได้ทั้งหมด บุคคลากรที่ดำเนินการรมยาจะต้องมีเพียงพออย่างน้อย 2 คน และต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม วิธีการรมยากำจัดศัตรูพืชจากกรมวิชาการเกษตร
มีใบอนุญาตให้ประกอบการรมยาจากกรมวิชาการเกษตรเช่นเดียวกัน
(2) สถานที่ สถานที่ประกอบการพิจารณาการประเมิน จะพิจารณาออกเป็น2 ส่วน คือ
(2.1) สถานที่ประกอบการ จะต้องเป็นโรงงานที่มีรั้วรอบ ขอบชิด มีการแยกสัดส่วนการผลิตที่ชัดเจน มีความสะอาด ไม่มีการสะสมที่ก่อให้เกิดการสะสมของแมลงศัตรูพืชภายในโรงงาน ซึ่งจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของศัตรูพืช
(2.2) สถานที่ที่ใช้ในการรมยากำจัดศัตรูพืช จะต้องเป็นสถานที่ที่เหมาะสม สามารถทำการรมยากำจัดศัตรูพืชได้ดี และปลอดภัย โดยสถานที่ที่เหมาะสมดังกล่าวจะต้องเป็น
สถานที่ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- มีพื้นที่เรียบ ไม่เอียง ไม่มีรอยแตกแยก ร่องระบายน้ำ รูระบายน้ำ กรวด ทรายหินชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ จะเป็นสาเหตุของการรั่วไหลของก๊าซ ซึ่งจะทำให้การรมยาไม่ประสบผลสำเร็จได้ก่อนรมยาจึงต้องทำความสะอาดพื้นให้สะอาดก่อนเป็นลำดับแรก
- มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่กำหนดเช่นนี้เนื่องจากก๊าซเมธิลโบรไมด์เป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ ถ้าเกิดมีการรั่วไหลของก๊าซ จะทำให้ไม่เกิดการสะสมของก๊าซบริเวณที่กระทำการรมยา จนถึงระดับความเข้มข้นที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง
- เป็นสถานที่ที่อยู่ในร่ม มีหลังคาปกคลุม ป้องกันฝนและแสงแดดหรือลมที่พัดแรงเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการฉีกขาดของผ้าที่ใช้คลุมรมยาทำให้การรมยาล้มเหลว ต้องเริ่มการรมยาใหม่ เสียเงินและเวลา
(2.3) อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการรมยา
การรมยากำจัดศัตรูพืช เป็นการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยพร้อม ๆ ไปกับความสำเร็จของการดำเนินงาน ดังนั้นการรมยาที่ถูกต้องตามมาตรฐานจะต้องประกอบด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือดังต่อไปนี้
- ผ้าพลาสติก tarpauline
- ถุงทรายหรือท่อทราย (Sand snake)
- ท่อส่งก๊าซ (Gassing line)
- ท่อน้ำก๊าซ (Sampling line) เพื่อนำก๊าซจากภายในกองรมยามาวัดความเข้มข้น
- พัดลม ช่วยในการกระจายก๊าซให้มีความเข้มข้นภายในกองรมยาเท่า ๆ กัน และช่วยในการระบายก๊าซเมื่อสิ้นสุดการรมยา
- ปลั๊กไฟ เพื่อใช้ให้พลังงานแก่พัดลม
- ถังก๊าซบรรจุเมธิลโบรไมด์
- หม้ออุ่นก๊าซ (Vaporizer) เพื่ออุ่นเมธิลโบรไมด์ ให้เป็นก๊าซร้อนจะทำให้การกระจายตัวรวดเร็วขึ้น
- ข้อต่อ (joint) ต่าง ๆ เพื่อต่อท่อจากถังก๊าซมายัง vaporizer และเข้าไปยังกองรมยา
- เตาแก๊สพร้อมถังแก๊สและไม้ขีด
- สายวัดความยาว
- ตราชั่งน้ำหนัก
- เทปกาวขนาดความกว้างไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว
- เครื่องวัดความเข้มข้นของก๊าซเมธิลโบรไมด์
- หน้ากากชนิดเต็มหน้าพร้อมหม้อกรองก๊าซ
- เครื่องวัดการรั่วไหลของแก๊ส (Halide detector)
- เชือกกันบริเวณ
- ป้ายเตือนอันตราย
3.2 การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินความสามารถในการกำจัดศัตรูพืชของผู้ประกอบการด้วยวิธีการใช้ความร้อน (Heat treatment)
การกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้ความร้อน เป็นวิธีการที่กำหนดโดย IPPC ที่รับรองว่าสามารถกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญของไม้ได้ทุกระยะการเจริญเติบโต การประเมินของเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจาก
(1) สถานที่ สถานที่ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับวิธีการตรวจประเมินโดยการรมยา
(2) อุปกรณ์และเครื่องมือ อุปกรณ์กำจัดศัตรูพืชโดยการใช้ความร้อน สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการผลิต จะต้องจัดเตรียม คือ
- ห้องอบไม้ ซึ่งจะใช้พลังงานแสดงอาทิตย์ หรือพลังงานไอน้ำ แบบ Kiln drying ก็ได้
- เครื่องวัดอุณหภูมิของไม้ชนิดที่สามารถวัดแกนกลางไม้ได้โดยการใช้ probe สอดเข้าไปในร่องที่เจาะ เมื่อผู้ประกอบการจัดเตรียมความพร้อมแล้ว จึงทำการนัดแนะเจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบประเมิน

4. การแสดงความสามารถในการกำจัดศัตรูพืชของผู้ประกอบการ
ขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการต้องสามารถแสดงวิธีการกำจัดศัตรูพืช ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประกอบการประเมิน โดยที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น จนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน จะต้องถูกต้องตามมาตรฐานที่ IPPC กำหนด ดังนี้
4.1 การแสดงความสามารถในการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีการรมยาด้วยเมธิลโบรไมด์
การรมยากำจัดศัตรูพืชกับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ IPPC กำหนดไว้ใช้อัตราการรมยา 48 กรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา16-24 ชั่วโมง โดยในชั่วโมงที่ 16 ความเข้มข้นของเมธิลโบรไมด์ในกองรมยาจะต้อง
ไม่ต่ำกว่า 14 กรัม/ลูกบาศก์เมตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณารายละเอียดที่ต้องปฏิบัติดังนี้
(1) การเตรียมสถานที่ประกอบการรมยากำจัดศัตรูพืช จะต้องมีการเลือก
สถานที่ให้ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ในขั้นตอนการเตรียมการ
(2) การจัดตั้งกองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
การจัดตั้งกองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ นับว่ามีความสำคัญ การตั้งกองไม้จะต้องตั้งให้มีระเบียบ ที่สำคัญจะต้องห่างจากผนังอย่างน้อย 1 เมตร และต้องมีแสงสว่างเพียงพอ การที่ต้องตั้งห่างจากผนังดังกล่าว เพราะเหตุว่าจะทำให้เกิดความสะอาดในการปฏิบัติงาน เช่น การวางถุงทราย การตรวจสอบการรั่วไหลของแก๊ส การตรวจสอบรอยรั่วบนผ้า tarpauline หรือการอุดรอยรั่ว
(3) การวางสายวัดความเข้มข้นของก๊าซ ผู้ทำการรมยาต้องมีความสามารถในการวางสายวัดความเข้มข้นของก๊าซเมธิลโบรไมด์ ได้ถูกต้อง ว่าจะต้องวางไว้ตรงจุดใดจึงจะเหมาะสม
(4) การวางพัดลม เพื่อช่วยการกระจายตัวของแก๊ส จะต้องวางให้ถูกต้องเหมาะสม
(5) การคลุมผ้า tarpauline บนกองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ พร้อมวางท่อทรายทับชายผ้าเพื่อป้องกันการรั่วไหลของก๊าซต้องวางให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด
(6) การคำนวณปริมาตร และอัตราของเมธิลโบรไมด์ที่ต้องใช้ในการรมยาต้องคำนวณได้อย่างถูกต้อง
(7) การปฏิบัติการปล่อยยาอย่างถูกต้อง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก มีการตรวจสอบการรั่วไหล
(8) การวัดความเข้มข้นของก๊าซเมธิลโบรไมด์ เมื่อดำเนินการรมยาได้ระยะเวลาหนึ่ง จนถึงชั่วโมงสุดท้ายของการรมยาความเข้มข้นของก๊าซต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ IPPC กำหนด
(9) การระบายก๊าซเมธิลโบรไมด์ออกจากกองรมยา จะต้องปฏิบัติได้ถูกต้องและปลอดภัย
หมายเหตุ : กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติการรมยาได้เอง สามารถที่จะว่าจ้างภาคเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว
4.2 การแสดงความสามารถในการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีการใช้ความร้อน
ในแนวทางการควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ในการค้าระหว่างประเทศ (ISPM 15) กำหนดให้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก ต้องกำจัดศัตรูพืชโดยใช้ความร้อนที่วัดได้ 56( C เป็นเวลา 30 นาที โดยวัดที่ใจแกนกลางไม้ วิธีการนี้ผู้ผลิตจะต้องทำการอบไม้ ให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการและใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ วัดที่ใจแกนกลางไม้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ได้ตามมาตรฐาน จึงจะผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่
หมายเหตุ : การตรวจประเมินขั้นตอนและวิธีการกำจัดศัตรูพืช พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกไว้ในรายการตรวจประเมินในแบบฟอร์ม กบส 2 , กบส 2/1 , กบส 2/2

5. การประเมินผลการตรวจประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประเมิน โรงงานผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เสร็จสิ้นแล้ว จะทำการประเมินผลการตรวจสอบลงในแบบบันทึกรายการตรวจสอบประเมิน แล้วจึงนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาการตรวจประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาการตรวจประเมินผลการพิจารณา ดังนี้
5.1 หากไม่ผ่านการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบการผลิตที่ขอขึ้นทะเบียนทราบ พร้อมเหตุผลที่ไม่ผ่านการประเมิน
5.2 หากผ่านการประเมิน เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอ
ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด จะสรุปผลการพิจารณาเสนอต่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนตามแบบ กบส 3 ซึ่งเรียกว่า ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ เพื่อการส่งออก

6. เมื่อใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ ผ่านการลงนามจากผู้มีอำนาจลงนามพนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ เพื่อมารับใบสำคัญ

7. เงื่อนไขที่ผู้ผลิตต้องปฏิบัติก่อนและหลังการได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียน
7.1 วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ได้รับการกำจัดศัตรูพืชแล้วต้องประทับตราวันที่กำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง
7.2 ต้องทำตารางการกำจัดศัตรูพืชในแต่ละครั้งไว้เพื่อการตรวจสอบ
7.3 ต้องรักษามาตรฐานของการปฏิบัติการกำจัดศัตรูพืชให้อยู่ในมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
7.4 ต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตรในการติดตามหรือตรวจสอบการ ปฏิบัติงานกำจัดศัตรูพืชได้ตามสมควร หรือในกรณีเกิดการร้องเรียนจากประเทศปลายทาง

8. บทกำหนดโทษ
8.1 กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ผลิตรายใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ IPPC กำหนดไว้ใน ISPM No. 15 หรือดำเนินการผิดไปจากมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้แก้ไขแล้ว แต่ผู้ผลิตมิได้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ภายในเวลาที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจจะตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียน หรือดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
8.2 กรณีที่กรมวิชาการเกษตรได้รับการร้องเรียนจากประเทศปลายทางในกรณี
ตรวจพบศัตรูพืชที่วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ผลิตไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจจะตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียน หรือดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
8.3 กรณีที่มีการพักใช้หรือเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียน กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งรายชื่อของผู้ผลิตดังกล่าวให้ประเทศปลายทางที่ประกาศ ใช้มาตรการมาตรฐานสุขอนามัย ฉบับที่ 15 ทราบ

* สถานที่ติดต่อ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-9406466-8 โทรสาร 02-5793576

dookdik_017_redpanda

ใส่ความเห็น

Scroll to Top